เนมเพลตมอเตอร์บอกอะไรบ้าง ?
โดยทั่วไปมอเตอร์ไฟฟ้าทุกตัวจะมีแผ่นป้ายหรือเนมเพลต (Nameplate) ติดมากับตัวมอเตอร์ ซึ่งในเนมเพลตมอเตอร์จะแสดงถึงรายละเอียดข้อมูลต่างๆของมอเตอร์ตัวนั้นๆ เช่น ขนาดกำลังไฟฟ้าขาออก (kW Output), ความเร็วรอบ (Speed), แรงดันไฟฟ้า (Volt), กระแสไฟฟ้าพิกัด (Full load Current), วิธีการต่อเข้าสาย (Connection), ค่าประสิทธิภาพ (Efficiency) เป็นต้น ดังตัวอย่าง
มอเตอร์ยี่ห้อต่างๆจะมีรูปแบบของเนมเพลตที่แตกต่างกันออกไป แต่จะมีรายละเอียดที่คล้ายคลึงกัน โดยในที่นี่จะอธิบายตามตำแหน่งมอเตอร์โดยอ้างอิงเนมเพลตของมอเตอร์ยี่ห้อ CMP จากประเทศออสเตรเลีย
1. มาตรฐานการผลิตมอเตอร์ (Standard) โดยทั่วไปมาตรฐานมอเตอร์ที่พบบ่อยจะเป็นมาตรฐาน IEC, JIS, NEMA ซึ่งในประเทศไทยส่วนมากจะเป็นมาตรฐาน IEC
2. ยี่ห้อ/เครื่องหมายการค้า (Brand)
3. หมายเลขเครื่อง (Serial No.) หมายเลขเครื่องของมอเตอร์แต่ละตัวจะไม่เหมือนกันมีไว้เพื่อการตรวจสอบ อ้างอิงกับผู้ขายหรือโรงงานผู้ผลิต
4. ชนิดของมอเตอร์ (Type) โดยทั่วไปจะบอกถึงชื่อรุ่นและขนาดของเฟรมมอเตอร์
5. ลักษณะการติดตั้ง (IM) ลักษณะการติดตั้งของมอเตอร์ เช่น มอเตอร์ชนิดขาตั้ง B3, หน้าแปลน B5 หรือแบบชนิดอื่นๆ
6. ระดับประสิทธิภาพ (Efficiency Class) บอกถึงระดับประสิทธิภาพตามมาตรฐาน IEC, IE1 มอเตอร์มาตรฐาน
IE2 มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง
7. ชนิดของฉนวน (Insulation Class) บอกถึงระดับการทนความร้อนของมอเตอร์ เช่น คลาส F ทนได้ 155 องศาเซลเซียส
8. แรงดันใช้งาน (Voltage) พร้อมวิธีการต่อจากรูปหากแรงดันใช้งานเป็น 220 V ต้องต่อแบบเดลต้า, หากเป็นแรงดัน 380 V ต้องต่อแบบ Y
9. ความถี่ใช้งาน (Frequency)
10. ขนาดกำลังขาออก (kW Output)
11. ค่าตัวประกอบกำลัง (Power Factor)
12. ความเร็วรอบของมอเตอร์ (Speed) โดยทั่วไปจะบอกรอบการหมุนเป็นจำนวนรอบต่อวินาที (r/min)
13. ค่าประสิทธิภาพมอเตอร์ (Efficiency)
14. การทำงาน (Duty)
15. ระดับการป้องกัน (Ingress Protection) เป็นการบอกระดับการป้องกันฝุ่นและของเหลว
16. รหัสโมเดล (Product No.) บอกถึงคุณสมบัติของมอเตอร์เบื้องต้นได้ซึ่งการอ่านรหัสขึ้นอยู่กับการกำหนดโดยผู้ผลิต
17. อุณหภูมิแวดล้อม (Ambient Temp) อุณหภูมิแวดล้อมสำหรับการใช้งานมอเตอร์
18. น้ำหนักมอเตอร์ (Motor Weight)
19. เบอร์ลูกปืน (Bearing) โดยจะมีลูกปืนด้าน DE และด้านหลัง NDE
20. ปีที่ผลิตมอเตอร์
หากไม่มีเนมเพลตของมอเตอร์ จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการบำรุงรักษา หรือแม้กระทั่งการหามอเตอร์ใหม่เพื่อมาทดแทนมอเตอร์ตัวเดิม เนื่องจากการมองตัวมอเตอร์ด้วยตาเปล่าจะทำให้เราไม่สามารถทราบข้อมูลต่างๆของมอเตอร์ได้เลย